วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555

การเงิน การคลัง การธนาคาร
เงิน คือ สิ่งใด ๆ ก็ตามที่สังคมยอมรับใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน
หน้าที่ของเงิน
 1.เป็นเครื่องวัดมูลค่า เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เป็นมาตรฐานในการชำระหนี้ในอนาคต เป็นเครื่องรักษามูลค่า
ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ (รวมทั้งประเทศไทย) หันมาใช้มาตรฐานเงินตราที่เรียกว่ามาตราผสมภายใต้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยกำหนดค่าเสมอภาค เทียบกับทองคำ และเงินดอลลาร์
ค่าของเงิน
1. ค่าภายใน
2. ค่าภายนอก เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น เช่น 42 บาทเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าภายใน เป็นอำนาจในการซื้อสินค้าของเงิน 1 หน่วย ถ้า 1 หน่วย ซื้อสินค้าได้มาก แสดงว่ามีค่ามาก (ค่าของเงินจะแปรผกผันกับราคาสินค้า)
       ภาวะการเงินที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ ได้แก่
 1. ภาวะเงินเฟ้อ คือ ภาวะที่เงินมีอำนาจการซื้อลดลง ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น
 ผลกระทบ - ผู้เสียเปรียบคือ เจ้าหนี้ และผู้มีรายได้แน่นอน
- ผู้ได้เปรียบคือ ลูกหนี้ และนักธุรกิจ
 วิธีแก้ปัญหา - ขึ้นอัตราดอกเบี้ย และขายพันธบัตรรัฐบาล
- ใช้นโยบายงบประมาณเกินดุล ด้วยการเพิ่มภาษีอากร
 2. ภาวะเงินฝืด คือ ภาวะที่มีเงินมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น ปริมาณเงินลดลง ราคาสินค้าและบริการถูกลง แต่ไม่มีคนมาซื้อ
ผลกระทบ - ผู้เสียเปรียบคือ ลูกหนี้ และนักธุรกิจ
- ผู้ได้เปรียบคือ เจ้าหนี้ และผู้มีรายได้แน่นอน
  วิธีแก้ปัญหา - ลดอัตราดอกเบี้ย และซื้อพันธบัตรรัฐบาล
- ใช้นโยบายงบประมาณขาดดุล ด้วยการลดหนี้ และเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐ
 3. ภาวะเงินตึง      คือ   ภาวะที่กระแสการเงินชะงักชะงัน มีความต้องการเงินเพื่อลงทุนเพิ่มแต่ปริมาณเงินน้อย การแก้ปัญหา   คือ   เพิ่มปริมาณเงินหรือกู้เงินมาหมุนเวียนเพิ่มอาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อหรือเงินฝืดก็ได้
การธนาคารเบื้องต้น   
การธนาคารเบื้องต้น    เป็นการศึกษาบทบาทของธนาคาร เช่น
1. ธนาคารกลาง คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ควบคุมนโยบายและปริมาณเงินภายในประเทศ เป็นนายธนาคารกลางของธนาคารพาณิชย์ ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รักษาทุนสำรองระหว่างประเทศ และออกพันธบัตร
2. ธนาคารพาณิชย์ ทำหน้าที่รับฝากเงิน ให้บริการโอนเงิน ให้เช่าตู้นิรภัย
3. ธนาคารพิเศษ เช่น
       - ธนาคารออมสิน เช่น ส่งเสริมการออกทรัพย์ รับฝากเงินจากประชาชน ให้รัฐกู้ไปใช้
       - ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ส่งเสริมการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย
       - ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมการพัฒนาการเกษตร ให้เกษตรกู้ยืม
4. สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร เช่น บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัทเงินทุนและบริษัทหลักทรัพย์, บริษัทเครดิตฟองซ์เอร์, สหกรณ์การเกษตร, สหกรณ์ออมทรัพย์, โรงรับจำนำ

การคลัง                                       
การคลัง เป็นการศึกษาเรื่องรายรับรายจ่ายของรัฐบาล
ขอบเขตของการศึกษาการคลัง
1. รายรับรายจ่ายของรัฐบาล
2. งบประมาณแผ่นดิน
3. นโยบายการคลังและระบบภาษี
4. หนี้สาธารณะ
รายรับและรายจ่ายของรัฐบาล
1. รายรับรัฐบาล   มาจากรายได้ในรูปภาษีอากร โดยเก็บจากผู้มีเงินได้ (ภาษีทางตรง) เก็บจากสินค้าและบริการ (ภาษีทางอ้อม), การขายสิ่งของและบริการ รายได้จากรัฐพาณิชย์ เงินกู้ (หนี้สาธารณะ) และเงินคงคลัง
2. รายจ่ายรัฐบาล   รัฐใช้เงินในรูปของเงิน งบประมาณ แจกจ่ายไปยังหน่วยงานต่าง ๆ
งบประมาณแผ่นดิน
เป็นแผนการใช้จ่ายของรัฐในแต่ละปี ปีงบประมาณเริ่มเมื่อ 1 ต.ค. จนถึง 30 ก.ย. ของปีถัดไป
เศรษฐกิจระหว่างประเทศ
การค้าระหว่างประเทศ เป็นการนำสินค้าและบริการไปแลกเปลี่ยนกับอีกประเทศหนึ่ง เนื่องจากความแตกต่างกันทางทรัพยากรและความสามารถในการผลิต
นโยบายการค้า
1. การค้าแบบเสรี ไม่มีการเก็บภาษีคุ้มกัน, ไม่ให้สิทธิพิเศษ ไม่มีข้อจำกัดทางการค้า
2. การค้าแบบคุ้มกัน มีการตั้งกำแพงภาษี, ไม่ให้สิทธิพิเศษ, ห้ามนำเข้า ห้ามส่งสินค้าบางชนิดออก ให้อุดหนุนเพื่อผลิตแข่งกับต่างประเทศ
ดุลการค้า     
ดุลการค้า คือการเปรียบเทียบมูลค่าสินค้าขาออกและมูลค่าสินค้าขาเข้า ในรอบ 1 ปี แบ่งเป็นดุลการค้าขาดดุล, ดุลการค้าเกินดุล และดุลการค้าสมดุล
ลักษณะการค้าระหว่างประเทศของไทย
1. ใช้นโยบายการค้าแบบคุ้มกัน
2. ใช้ระบบภาษีศุลกากรพิกัดอัตราเดียว
3. ประเทศคู่ค้าสำคัญคือ ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, ซาอุดิอาระเบีย
4. สินค้าออก ส่วนใหญ่คือ สินค้าจากภาคเกษตรกรรม
5. สินค้าเข้า เป็นสินค้าอุตสาหกรรม เครื่องจักร และเชื้อเพลิง

การแก้ไขดุลการชำระเงินขาดดุล
1. ลดการส่งสินค้าเข้า                                   
2. ชักชวนชาวต่างชาติมาท่องเที่ยว
3. ส่งเสริมการส่งออกมากขึ้น
4. ลดบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย
บัญชีดุลการค้าชำระเงินระหว่างประเทศ
1. บัญชีเดินสะพัด เป็นบัญชีรวมดุลการค้าและดุลบริการ
2. บัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย เป็นการเคลื่อนย้ายทุนระหว่างประเทศรวมถึงเงินกู้
3. บัญชีเงินโอนและเงินบริจาค เป็นเงินช่วยเหลือระหว่างประเทศ
4. บัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศ เป็นบัญชีบอกจำนวนเงินสำรองระหว่างประเทศ และชี้ให้เห็นฐานะของดุลการชำระเงินของประเทศ
ข้อเปรียบเทียบระหว่างดุลการค้ากับดุลการชำระเงิน
1. ดุลการชำระเงินนั้นรวมรายจ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับประเทศทั้งหมดทั้งที่เป็นรายรับ รายจ่ายจากสินค้าและบริการ เงินลงทุน เงินกู้ เงินบริจาค
2. ดุลการค้า หมายถึง ส่วนต่างของสินค้าเข้าและสินค้าออก โดยดุลการค้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของดุลการชำระเงิน
3. บางประเทศอาจมีการค้าขาดดุล แต่มีดุลการชำระเงินเกินดุลก็ได้

ทุนสำรองระหว่างประเทศ  
ทุนสำรองระหว่างประเทศ   คือ ทรัพย์สินของประเทศที่เป็นทองคำและเงินตราต่างประเทศสกุลสำคัญ เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐ หรือปอนด์สเตอริง เงินสำรองระหว่างประเทศมีประโยชน์คือ
1. ใช้เป็นทุนสำรองเงินตราส่วนหนึ่ง
2. ใช้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับชำระเงินให้กับต่างประเทศ
3. ใช้เป็นทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราประเทศส่วนหนึ่ง เพื่อให้มีเสถียรภาพมั่นคง
การลงทุนระหว่างประเทศ
เป็นการที่รัฐบาลหรือเอกชนของประเทศหนึ่งนำเงินไปลงทุนดำเนินธุรกิจ เพื่อแสวงหาผลกำไร สาเหตุของการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อต้องการขยายการผลิตและการลดต้นทุน
ผลที่เกิด
1. ประเทศกำลังพัฒนา ได้เรียนรู้วิทยาการ เทคโนโลยีใหม่ ๆ
2. ประเทศกำลังพัฒนา มีการว่าจ้างงานมากขึ้น
3. เกิดการเอาเปรียบประเทศที่รับการลงทุน
4.

พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย
รูปแบบของระบบเศรษฐกิจ
1. ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือเสรีนิยม เอกชนมีสิทธิ์เป็นเจ้าของทรัพย์สินและเป็นผู้ดำเนินการผลิต
มีการแข่งขันกันในด้านคุณภาพ ราคา การให้บริการ กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินผ่านกลไกราคา
ข้อดี 1. เอกชนมีสิทธิ์เสรีภาพในทางเศรษฐกิจ
2. สินค้ามีการพัฒนา มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ดี
ข้อเสีย 1. การกระจายรายได้ไม่เท่าเทียมกัน
2. ทรัพยากรถูกนำมาใช้ฟุ่มเฟือย
2. ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม รัฐมีบทบาทในการวางแผนและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
เอกชนยังเป็นเจ้าของปัจจัยบางประเภท มีการวางแผนด้านเศรษฐกิจจากส่วนกลาง
ข้อดี 1. ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น
2. ฐานะของประชาชนไม่แตกต่างกัน
ข้อเสีย 1. รัฐรับภาระทางด้านสวัสดิการ
2. เอกชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
3. ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ รัฐเป็นเจ้าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและปัจจัยการผลิต เอกชนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการเลือกอาชีพ รัฐควบคุมการผลิตอย่างสมบูรณ์ มีการวางแผนจากผลิตจากส่วนกลาง
ข้อดี 1. ควบคุมการใช้ทรัพยากรได้ดี
2. เอกชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจ
4. ระบบเศรษฐกิจแบบผสม กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นของเอกชน รัฐคงจัดสรรสวัสดิการให้ประชาชน
มีการแข่งขันด้านคุณภาพ ราคา บริการ รัฐเข้าดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อส่วนรวม
ใช้กลไกราคา ร่วมกับการวางแผนจากส่วนกลาง
ข้อดี 1. เอกชนมีเสรีภาพ
2. รัฐเข้าคุ้มครองผลประโยชน์ไว้กับประเทศและสังคม
ข้อเสีย 1. รัฐรับภาระสวัสดิการต่าง ๆ
ความหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์
เศรษฐศาสตร์ หมายถึง วิชาที่ศึกษากิจกรรมเศรษฐกิจของมนุษย์ในการเลือกหาแนวทางที่จะใช้ปัจจัยการผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่จำกัดของมนุษย์ รวมถึงการกระจายและการบริโภคแบ่งออกเป็น 2 ภาคคือ
      1. เศรษฐศาสตร์จุลภาค เป็นการศึกษากิจกรรมทางเศรษฐกิจของบุคคล ครัวเรือน เป็นการศึกษาเฉพาะส่วนย่อย ๆ ในระยะเวลาหนึ่ง ๆ
      2. เศรษฐศาสตร์มหภาค เป็นการศึกษากิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับรวมหรือในระดับประเทศ เช่น รายได้ประชาชาติ อัตราการจ้างงาน การธนาคาร การคลัง

กิจกรรมทางเศรษฐกิจ
1. การผลิต (Production) เป็นการสร้างสินค้าและบริการเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์โดยให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ เช่น ประโยชน์จากรูปร่าง ประโยชน์จากสถานที่ ประโยชน์จากเวลา ประโยชน์จากกรรมสิทธิ์
ปัจจัยการผลิต
ที่ดิน หมายถึงที่ดินและทรัพยากรที่อยู่ในดินและเหนือพื้นดิน ค่าตอบแทนคือ ค่าเช่า
แรงงาน หมายถึง แรงงานที่เกิดจากกำลังกายและสติปัญญาของมนุษย์ ค่าตอบแทนคือ ค่าจ้าง หรือเงินเดือน
ทุน หมายถึง สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้ร่วมกับแรงงาน เช่น เครื่องจักร ค่าตอบแทนคือ ดอกเบี้ย
ผู้ประกอบการ ผู้ที่นำเอาปัจจัยการผลิต มาผลิตเป็นสินค้าและบริการ ค่าตอบแทนคือ กำไร
ขั้นการผลิต
การผลิตขั้นปฐมภูมิ เป็นการผลิตขั้นแรกโดยนำทรัพยากรธรรมชาติ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยใช้แรงงาน เช่น การประมง การเกษตร
การผลิตชั้นทุติยภูมิ เป็นการนำเอาผลผลิตขั้นต้น มาแปรสภาพเป็นสินค้าได้แก่ หัตถกรรม และอุตสาหกรรม
การผลิตชั้นตติยภูมิ เป็นการผลิตในรูปบริการ เช่น การขนส่ง การท่องเที่ยว การประกันภัย
          การกำหนดราคาและปริมาณการผลิต ผู้ผลิต อาจคาดคะเนผลผลิตจากการคาดคะเนอุปสงค์และอุปทานของสินค้าในตลาด
อุปสงค์ (Demand) เป็นความต้องการซื้อสินค้าและบริการ ขึ้นกับราคาสินค้า
        กฎทั่วไปของอุปสงค์ คือ อุปสงค์แปรผันโดยอ้อมหรือผูกพันกับราคาสินค้าและบริการ (สินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นของอุปสงค์น้อย)
อุปทาน (Supply) เป็นปริมาณความต้องการที่จะขายสินค้าและบริการ ซึ่งจะขึ้นกับราคาของสินค้าและบริการ
        กฎทั่วไปของอุปทาน คือ อุปทานจะแปรผันโดยตรงกับราคาสินค้าและบริการ
ราคาดุลยภาพและปริมาณดุลยภาพ
ราคาสินค้าแพงนั้น เกิดขึ้นเมื่อ อุปสงค์มากกว่าอุปทาน (ภาวะอุปสงค์ส่วนเกิน)
ราคาสินค้าถูกลง    เกิดขึ้นเมื่อ อุปทานมากกว่าอุปสงค์ (ภาวะอุปทานส่วนเกิน)
2. การบริโภค (Consumption) หมายถึงการใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการ
ชนิดของการบริโภค
2.1 ความหมายของการบริโภค การกินหรือการใช้สินค้าและบริการ เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์โดยตรง
2.2 สินค้าคงทน ได้แก่ สินค้าที่เก็บไว้ใช้ได้นานเป็นปี เข่น ปากกา นาฬิกา กระเป๋า
สินค้าไม่คงทน ได้แก่ สินค้าที่ใช้แล้วหมดสิ้นไปภายใน 1 ปี เช่น อาหาร น้ำมัน เชื้อเพลิง กระดาษ ถ้ารายได้ต่ำ ความสามารถในการบริโภคจะถูกจำกัดลง และถ้ามีรายได้สูง ความสามารถในการบริโภคจะสูงขึ้น
3. การกระจาย (Distribution) หมายถึงการจำนวนจ่ายแจกสินค้าและบริการ แบ่งเป็น
3.1 การกระจายสินค้าและบริการ
3.2 การกระจายสินค้าและบริการ ไปสู่ผู้บริโภค
การกระจายรายได้ เป็นการกระจายผลตอบแทนไปสู่ปัจจัยการผลิต
4. การแลกเปลี่ยน (Exchange) หมายถึง การนำสินค้าและบริการไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าและบริการอื่น หรือแลกเปลี่ยนกับสื่อกลาง จึงแบ่งออกเป็น
4.1 ความหมายของกสรแลกเปลี่ยน
4.2 วิวัฒนาการของการแลกเปลี่ยน
4.3 การแลกเปลี่ยนสินค้าต่อสินค้าการแลกเปลี่ยนสินค้าต่อเงินตราหรือใช้สื่อกลาง
การแลกเปลี่ยนแบบใช้สินเชื่อ เช่น เช็ค ตั๋วแลกเงิน ดราฟท์

วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555


เพียงแต่ยังไม่ได้ทาสี

บางอย่างบนเส้นทาง
ผมเดินไปเห็น บางสิ่งบนถนน
อะไรสักอย่าง ผมไม่เข้าใจ
ผมไม่เคยพบเห็น
มันดูประหลาดมาก
ผมพลันหวนคิด วันในวัยเยาว์
บางสิ่งที่ดูเหมือนจะเคยเกิด
แต่มันช่างรางเลือน
เหมือนสิ่งที่กำลังจะเกิด
และเคยเกิด
แต่ผมประกันได้เลย
ผมไม่รู้จักไอ้สิ่งที่อยู่เบื้องหน้านั่น
อยู่อยู่ความปวดร้าวจู่โจมผม
ท้ายทอยของผมเหมือนมีระฆังพันใบ
ระรัวเสียงที่สวรรค์และนรกไม่เคยรังสรรค์
ผมจะบอกอย่างไรดี ผมอธิบายมันไม่ได้
เสียงก้องทำให้หัวผมแทบระเบิด
เหมือนระดับของเหลวในหูผมไหลทะลัก
ผมรู้สึกหัวของผมโตขึ้นโตขึ้นจนบดบังทัศนวิสัย
และกีดขวางการจราจรในบัดนั้น
อะไรบางอย่างที่เห็นกำลังหยั่งรากบนผิวถนน
ขณะเดียวกันก็เห็นผู้คนต่างจ้องมองมายังผม
สายตาทั้งหลายมีความตื่นตระหนกอย่างเหลือร้าย
ผมเห็นผมในดวงตาเหล่านั้น
มันกำลังหัวร่อสิ่งแปลกปลอม
แล้วลำตัวผมอุบัติด้วยกิ่งใบ
ชูช่อเสียดฟ้าทะมึนที่กำลังตั้งเค้าพายุ
บางคนอุทานว่า ต้นไม้ยักษ์!
ที่นี้ ผมจะทำอย่างไรดี มันช่างละอาย
ร่างกายผมกำลังประจานท่ามกลางการจราจร
ผมหนาว ผมสั่น ผมหนาว ผมสั่น
ผมอยากได้ผ้านวมมาคลุมกาย
พลเมืองผู้ภักดีทะยอยไปเปิดฝากระโปรงรถ
พลันเสียงเลื่อยไฟฟ้านับร้อยแผดคำราม
กลิ่นเบนซินชวนผมคลื่นไส้
ผมอยากหนีไปจากที่ตรงนั้น
แต่รากของผมลึกเกินกว่าจะผละไป
พวกเขาละล้าละลังและหวาดหวั่นที่จะสัมผัสผิวหนังผม
แต่พวกเขาก็ทำ
ผมพยายามกรีดร้องแต่เสียงผมไม่หลุดจากปาก
ผมอยากร้องไห้แต่น้ำตากลับไหลย้อนซึมเข้าสู่กิ่งก้าน
กระดูกแตกราวผนังกระจกถูกอัดด้วยแรงฟุตบอลของวัยหนุ่ม
เปลือกผมเละยุ่ย อย่างกับโจ๊กมื้อเช้า
สายพานคมเลื่อยชำแรกเข้าที่ข้อเท้าของผม
เลือดสีขาวไหลเป็นทางบนถนนที่จะนำผมกลับบ้าน
ผมนึกถึงวันแรกที่ผมมาเยือนโลก
ต่างกันเพียงดวงตามากมายกำลังปรีดิ์เปรม
ขณะที่ร่างของผมกำลังโงนเงน
ดูพวกเขาช่างหนักแน่นและแน่วแน่
ร่างผมโค่น กระแทกลงกลางถนน!
งานฉลองใหญ่เกิดขึ้นทั่วเมือง
พลุแตกเต็มฟ้ากลางราตรี
ดวงตาพวกเขาช่างอิ่มเอม
ขณะที่เพื่อนผู้มาก่อนผมได้รับอาภรณ์เป็นดวงไฟระยิบ
ร่างของผมถูกลิดกิ่งและใบออก
ลำต้นของผมถูกตัดและซอยเป็นซี่ซี่
พวกเขาบางกลุ่มต่อรองกันว่า จะเอาท่อนแขน หรือท่อนขาดี
อีกบางกลุ่มกระโดดไปบนหลังคารถ พลางชูกำปั้น
กร้าวประกาศว่า มันน่าจะเป็นเมรุอันวิจิตรตระการ
อีกบางกลุ่มแย้งว่า แต่ทั้งหมดนี้ คืออนาคตมหาราชวังสิบหลัง
แด่ราชโอรสผู้ทรงพิสมัยเสด็จประพาสทางไกล
และพึงพระราชหฤทัยในการดื่มฤดูกาล
นับแต่นั้นมาเรื่องราวของผมถูกเล่าขาน
กลายเป็นเทพองค์หนึ่งซึ่งศักดิ์สิทธิ์
เรื่องของผมอยู่ในชามเบรกฟัสต์
ละลายอยู่ในแก้วเอสเพรสโซ
อยู่ในหน้าโซไซตี้บางกอกโพสต์
อยู่ในฝ้ายถุงเท้าปิแอร์การ์แดง
อยู่ในเน็กไทยับยู่ยี่ลายช้างเผือก
อยู่ในเบสต์เซลเลอร์ ผมจะเป็นคนดี
อยู่ในช่อการะเกดฉบับเทียบเชิญ
อยู่ในฟ้าเดียวกันฉบับข้อมูลใหม่
อยู่ในมิชลินสี่ล้อรถประจำตำแหน่ง
อยู่ในพวงมาลัยทำมือของเด็กน้อย
อยู่ในบิลบอร์ดไทยเข้มแข็งข้างทางด่วน
อยู่ในพานพุ่มหน้าทางเข้าสำนักงานใหญ่
อยู่ในกรอบไม้สักทองอันเป็นที่สักการะ!

ซะการีย์ยา อมตยา
 


วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554



ความสุขของกะทิ

เด็กหญิงกะทิอายุ ๙ ปีอาศัยอยู่บ้านทรงไทยริมคลองที่อยุธยากับตาและยาย ทุกวันเธอตื่นแต่เช้า คดข้าวใส่ขันและไปใส่บาตรกับตาที่ท่าน้ำหน้าบ้าน หลวงลุงนั่งเรือมารับบาตรและมีเด็กวัดที่เป็นหลานชื่อ ทอง พายเรือมาให้ กะทิซ้อนท้ายจักรยานตาไปขึ้นรถสองแถวที่หน้าปากซอยเพื่อไปโรงเรียน เธอมีปิ่นโตใส่อาหารกลางวันที่ยายเตรียมให้ไปโรงเรียนด้วย
กะทิมีความสุขดีในบ้านหลังน้อยที่ล้อมรอบด้วยไม้ไทย ในวันว่างตาชวนกะทิพายเรือไปเที่ยวเล่นในทุ่งและไปจนถึงศาลาริมน้ำใต้ต้นก้ามปู ตาเคยเป็นทนายมีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ เมื่อเกษียณแล้วจึงย้ายกลับมาบ้านเกิด บูรณะบ้านไทยและใช้ชีวิตบั้นปลายช่วยเหลือผู้คนในท้องถิ่น ยายเคยทำงานเป็นเลขานุการนายใหญ่โรงแรมห้าดาวและเลือกที่จะใช้ชีวิตเรียบง่ายเช่นกัน กะทิมีพี่ทองเป็นเพื่อนเล่น ชีวิตดำเนินไปอย่างเรียบง่ายแม้ว่าไม่สมบูรณ์ครบถ้วนอย่างที่ควรจะเป็น
กะทิจำแม่ได้เพียงลาง ๆ ตายายไม่พูดถึงแม่ ในบ้านไม่มีรูปถ่ายแม่ กะทิคิดถึงแม่ทุกวัน อยากพบหน้า อยากให้แม่มารับที่โรงเรียน กะทิอธิษฐานทุกวันให้ฝันเป็นจริง แล้ววันหนึ่งยายก็ถามกะทิว่า
กะทิ อยากไปหาแม่ไหมลูก
เพียงเท่านี้การเดินทางของกะทิก็เริ่มขึ้น ตายายบอกกะทิว่าแม่ป่วยและพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านชายทะเล ชฏาหรือน้าฏา เลขาฯ ของแม่ ขับรถมารับ อาการของแม่หนักแล้วและตั้งใจให้กะทิมาใช้เวลาช่วงสุดท้ายด้วยกัน โรคของแม่คือเอแอลเอส กล้ามเนื้อจะอ่อนแรงลงเรื่อย ๆ จนช่วยตัวเองไม่ได้และถึงขั้นหายใจเองไม่ได้ แม่ไม่ยอมใช้เครื่องช่วยหายใจเพราะจะทำให้พูดไม่ได้ แม่เลือกที่จะทอนเวลาชีวิตลงแต่อยู่อย่างมีคุณภาพ
กะทิได้รู้ว่าแม่ตัดสินใจฝากกะทิไว้กับตายายเมื่อรู้ว่าไม่สามารถดูแลกะทิได้เอง เหตุการณ์ที่ทำให้แม่ตัดสินใจคือเมื่อกะทิอายุ ๒ ขวบ แม่พากะทิไปพายเรือเล่นจนถึงศาลาริมน้ำ แต่เกิดพายุและกลับบ้านไม่ทัน กะทินั่งอยู่ในเรือและเรือหลุดจากเสาที่ผูกไว้โดยที่แม่ช่วยอะไรไม่ได้เลย วันนั้นโชคดีที่ทองเด็กวัดตามมาหาเพื่อนเล่นจึงช่วยกะทิกับแม่ไว้ได้ กะทิอยู่กับตายายนับจากวันนั้นและเมื่อรู้เหตุผลจากปากของแม่ก็เข้าใจ
แม่จากไปอย่างสงบและฝากให้เพื่อนของแม่ชื่อ กันต์ และลูกพี่ลูกน้องชื่อ ตอง เป็นคนพากะทิกลับไปที่คอนโดกลางกรุงเพื่อพบกับส่วนหนึ่งของชีวิตแม่
กะทิจึงเดินทางอีกครั้งและมาถึงคอนโดที่กะทิเคยอยู่กับแม่ก่อนจะพลัดพรากกัน ที่นี่มีห้องหนึ่งที่แม่จัดเก็บเอกสารเรื่องราวชีวิตของตัวเองไว้ ลุงตองเป็นคนพากะทิไปเปิดตู้เอกสารและทำให้กะทิพบว่าพ่อของกะทิชื่อ แอนโทนี ซัมเมอร์ ชาวพม่าที่ไปเติบโตที่อังกฤษ
แม่พบพ่อเมื่อไปเรียนต่อและทำงานที่นั่น ทั้งสองรักและแต่งงานกัน แต่แม่ได้งานใหญ่ที่ฮ่องกงทำให้ต้องแยกกันอยู่ ไม่นานแม่ก็รู้ว่าคนรักเก่าของพ่อตามมาพบกันและแม่ตัดสินใจให้คนทั้งสองสมหวัง แม่เลือกเดินทางกลับมาอยู่กรุงเทพฯ และพบว่าตัวเองตั้งท้อง
แม่เตรียมจดหมายไว้ให้กะทิส่งถึงพ่อและสั่งไว้ว่าให้กะทิตัดสินใจเองว่าจะส่งหรือไม่ บทสุดท้ายของหนังสือทำให้รู้ว่ากะทิเลือกและพอใจที่จะใช้ชีวิตเรียบง่ายกับตายายที่บ้านริมคลองสืบไป

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ลับแลที่แก่งคอย

ในความทรงจำของชีวิต เราต่างมีบาดแผลทางจิตวิญญาณเกาะติดกันอยู่อย่างติดตรึงและลึกเร้น บางขณะมันมักจะลงโทษเราจนป่วยไข้...และหลายๆขณะมันมักจะผลักดันให้เราต้องตก อยู่ในอาการหม่นมืดคลุมเครือหลับๆตื่นๆ เป็นจริตแห่งมายาคติที่ตามติด...คอยหลอกหลอนหัวใจอันบริสุทธิ์ของเราให้ต้อง ตกอยู่กับความน่าสะพรึงกลัวในสิ่งที่บ่มเพาะวิถีแห่งตัวตนอันแตกซ่าน และไร้เกาะป้องกันในการควบคุมบริบทแห่งการมีชีวิตอยู่ให้ดำรงอยู่ได้อย่าง ถาวรและสงบนิ่ง ซึ่งยิ่งยาวนานสิ่งอันเป็นปรากฏการณ์แห่งความเหลื่อมซ้อนในท่าทีเบื้องต้นก็ จะค่อยๆกลับกลายเป็นความลับแห่งจิต และค่อยๆสะสมจนกลายสภาพเป็นความเหินห่างแห่งการรอคอยที่ไกลออกไปจากความดี งามของชีวิต...มากยิ่งขึ้นทุกที..
สาระแห่งเรื่องราวเบื้องต้นคือปฐมบทแห่งสำนึกคิดของการหยั่งรู้อันเป็น ผลลัพธ์แห่งผัสสะในการเล่าเรื่อง..ผ่านนวนิยายที่ทั้งปลอกเปลือกและเฉือน คว้านเข้าไปในเนื้อในของวิถีแห่งจิตวิญญาณที่สับสนและสั่นสะท้านอันเนื่องมา แต่ความจริงอันบาดลึกจากประสบการณ์ที่ถูกกระทำย่ำยีซึ่งสั่งสมอยู่ในจุดแตก ดับแห่งมุมมืดภายใต้หัวใจและตัวตนของความลวงหลอก
ลับแล , แก่งคอย โดย อุทิศ เหมะมูล นักเขียนหนุ่มผู้สร้างสรรค์เนื้องานด้วยลีลาอันแยบยลแห่งจิตรศิลป์และจินตศิลป์สื่อสะท้อนถึงอุบัติการณ์แห่งการถูกจองจำอย่างโหดร้ายภายใต้การบีบกด จากสัญชาตญาณที่ถูกทุบทำลายอย่างไร้หวัง...ด้วยภาพแสดงที่พลิกกลับไปมาทาง กลไกของการรับรู้และเข้าใจ
ชื่อของ ลับแล กับ แก่งคอย เป็นดั่งกุญแจสำคัญที่ไขเข้าไปสู่...ก้นบึ้ง..ผ่านประตูแห่งความลี้ลับใน ชีวิต เข้าไปสู่เนื้อแท้แห่งการจำยอมของสติและปัญญาญาณ ที่มนุษย์ไม่อาจขยับเขยื้อนศักยภาพแห่งตนให้เคลื่อนไหวไปในทางใดได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าอำนาจแห่งอัตตาและความคลี่คลายแห่งอนัตตาต่างขบกัดและเป็น ศัตรูระหว่างกันอย่างยากที่จะเยียวยาและแยกแยะออกมาจากความผิดชอบชั่วดี รวมทั้งไม่อาจจะให้นิยามความหมายใดใดต่อคุณค่าของสัญญะอันเป็นจริงที่ชีวิต ควรจะเป็นเจ้าของและผู้ถือครองอันแท้จริงได้...ชื่อ ลับแล เป็นชื่ออำเภอที่มีตำนานเล่าขานอันลึกลับมาช้านานของจังหวัดอุตรดิตถ์ ส่วน แก่งคอย เป็นชื่ออำเภอดั้งเดิมของจังหวัดสระบุรี...เป็นชุมทางการคมนาคมด้านรถไฟของ จังหวัดที่เต็มไปด้วยการเล่นแร่แปรธาตุ...แปลงธรรมชาติโดยการระเบิดภูเขาให้ ย่อยสลายกลายเป็นฝุ่นผง...ที่ต่อมาก็กลายเป็นส่วนผสมที่จับตัวกันจนกลายร่าง แปรรูปไปเป็นวัตถุรูปร่างต่างๆตั้งแต่เศษชิ้นแห่งอุปกรณ์เล็กๆ ไปจนถึงตึกรามอาคารสูงเทียบเท่าภูเขาเลากาอันเป็นที่มาแห่งต้นรากของมันอีก ครั้ง...นี่คือความอัศจรรย์ที่วกเวียนไปมาระหว่างชีวิตกับธรรมชาติที่ไม่เคย แยกออกจากกันได้...ชื่อของอำเภอทั้งสองกลายมาเป็นชื่อของลูกชายของชายคน หนึ่งที่ไม่ยอมฟังเสียงคัดค้านจากใครๆในการตั้งชื่อลูก ด้วยชื่อที่ประหลาดล้ำของสองอำเภอนี้ เมื่อกลายมาเป็นชื่อคน...มันฟังดูเหมือนดั่งจะก่อเกิดให้เป็นกาลกินี ไม่เป็นศิริมงคล แต่ลึกลงไปมันคือนัย แห่งการทดแทนความทรงจำในริ้วรอยแห่งชีวิตของคนคนหนึ่ง ซึ่งต้องเคี่ยวกรำโอกาสแห่งชะตากรรมของตนเองและครอบครัวผ่านความทุกข์ยาก เดียวดายโดยลำพัง ประเด็นแห่งชะตากรรมตรงส่วนนี้คือที่มาที่ไปแห่งโมหะจริตและโทสะจริตที่ก่อ เกิดขึ้นเป็นอาวุธร้าย ที่ย้อนกลับมาโหมกระหน่ำเฆี่ยนตีทั้งตัวเขา ภรรยาและลูกๆ...ลงโทษครอบครัวของเขาด้วยท่าทีที่เกรี้ยวกราด จนบิดรูปบิดร่างให้ความเชื่อมั่นศรัทธาในชีวิตต้องสูญสลายไปจากสภาวะปกติของ วิถีแห่งชีวิตมนุษย์
อุทิศ หยิบเอามิติแห่งสภาวะต่างๆในอุบัติการณ์ของชีวิตดังกล่าวมาตีความและขยาย ความออกมาเป็นทั้งรูปรอยของความคิดและภาพแสดงเชิงประจักษ์ในด้านรูปธรรมที่ มีส่วนพลิกผลันให้ชีวิตของตัวละครสำคัญในเรื่องต้องตกอยู่ในวงจรของการ เคลื่อนไหวในเชิงอคติ และเต็มไปด้วยมายาลวงของความเป็นไปที่ขาดรากแก้วแห่งเหตุและผลของการมีชีวิต อยู่ นั่นอาจเพราะว่าชีวิตของมนุษย์มักเต็มไปด้วยข้อขัดแย้งและการโต้แย้งที่มัก จะพัดพาทุกสิ่งทุกอย่างบนพื้นฐานของความดีงามให้หลุดพ้นจากจุดประสงค์ดั้ง เดิมของมันออกมาไกลแสนไกล...เช่นเดียวกับเรื่องราวของชายคนหนึ่งผู้ซึ่งเคย มีความรัก...มีคนรัก มีครอบครัว มีลูกชาย มีหน้าที่การงาน มีเพื่อน...มีทรัพย์สิน แต่ที่สุดแล้วก็ต้องจากโลกนี้ไปด้วยวิสัยและอาการที่แปลกประหลาดด้วยโรคภัย ที่เหมือนตกอยู่ในเงื้อมเงาของความเปลี่ยนแปลงที่เต็มไปด้วยปริศนา
กาลครั้งหนึ่ง ชายคนหนึ่งเคยมีชีวิตอยู่ที่นี่ เขามีลูกเมียพร้อมหน้า คนนับหน้าถือตาพรั่งพร้อม วันหนึ่งเขาค่อยๆสูญเสียความน่านับถือจากคนใกล้ชิด พอเขาตายจาก คนรอบข้างก็สิ้นความเห็นอกเห็นใจครอบครัวของเขา ภาวะแห่งความมีความเป็นตรงส่วนนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งแห่งการเล่าขานซึ่ง ลับแล ในฐานะลูกคนเล็กในวัยเริ่มหนุ่ม...วัยสิบห้าปี กับภาพแห่งความทรงจำของอดีต...กับเสียงอันอึงอลด้วยเหตุการณ์ชวนหวั่นไหวของ ประสบการณ์ชีวิต ทำให้เขากลายเป็นผู้เล่าเรื่องที่เหมือนถูกมัดโยงอยู่กับชีวิต คล้ายดั่งเงาที่ผูกติดกับร่างของเขาไปในทุกหนแห่ง...เหมือนว่าเงานั้นซื่อ สัตย์ แต่แท้จริงมันคือสิ่งที่ทรยศ...มันไม่เคยอยู่กับเรานานๆ....ในทุกเวลานาที มันมักจะกลายร่างของมันให้ทอดยาวไกลออกไปบนแผ่นพื้นที่ก้าวย่าง แต่อีกหลายๆขณะมันก็จะกลับหดตัว หายหัวไปอยู่ร่วมกับซากร่างของความเป็นตัวตนที่เลือนลับไปกับจิตวิญญาณที่ แหลกสลาย...ประเด็นตรงนี้ แท้จริงคือความสำคัญทางอุดมคติที่ อุทิศ พยายามจะชี้ให้เห็นว่า...มนุษย์เราทุกคนมีอุดมคติที่เป็นเสมือนเงาของความ เป็นจริง อุดมคติก็แค่เงาที่ไม่สะทกสะท้าน ปิดซ่อนและบิดพลิ้ว และสามานย์ในบางครั้ง เป็นรยางค์หนึ่งที่ความเป็นจริงไหนๆก็มีตามธรรมดาสามัญ เป็นเพียงเงามันเดินตามหลังความเป็นจริงต้อยๆ มีบางจังหวะเท่านั้น...ที่ความเป็นจริงอุ้มแบกความจำเป็นไว้ในอ้อมอก อุดมคติก็แสร้งทำว่ามันแขนด้วน เป็นไปไม่ได้ที่มันจะแบกอะไรได้ ความสง่างามของอุดมคติคือการแสดงให้เห็นว่าในบางจังหวะมันไม่ได้ปกปิดมิด เม้มอะไร
เรื่องราวของ ลับแล,แก่งคอย ถูกนำเสนอด้วยการเล่าผ่านสำนึกคิดที่ดูเหมือนจะสมบูรณ์ดั่งท่าทีของอุดมคติ ที่ยังไม่ได้ปลอกเปลือก...แต่ครั้นเมื่อเปลื้องแก่นแท้แห่งอารมณ์ความรู้สึก ออกจากนัยแห่งชีวิตที่แท้แล้ว...มันกลับเป็นได้ดั่งความจริงที่พิกลพิการ ...ความจริงที่เป็นดั่งแขนอันคดงอของ ลับแล เด็กหนุ่มผู้เล่าเรื่องนี้ที่เครื่องชี้ทางแห่งชีวิตของเขาอันเป็นสัญญะที่ เรียบง่ายที่สุดถูกกระทำให้คดงอและไม่สามารถที่จะวางใจในความเป็นแก่นแท้ของ มันได้...
อุทิศ สื่อสารเรื่องราวแห่งนวนิยายทั้งหมดของเขาผ่านเรื่องเล่าอันยาวไกลของลับแล ...จากตำนานอันวกวนเหลือเชื่อของเหล่าบุพการี...ข้ามผ่านอัศจรรย์ของ เหตุการณ์ที่เป็นเหมือนหมอกควันของความเร้นลับ...ลึกลงไปสู่ความฝันอันน่า ตื่นตระหนกที่ถูกเคี่ยวกรำและกระหน่ำตีจากความทุกข์ยากอันเนื่องมาจากใจที่ ถูกบ่อนแซะและรุกทำลาย จนแม้กระทั่งความบ้าคลั่งแห่งจิตวิญญาณที่สื่อแสดงออกมาเป็นดั่งมายาของความ ลวงหลอก ทั้งความจริงแท้...ความจริงลวง รวมทั้งความหลอกลวงในเจตนาแห่งความจริง...ทั้งหมดล้วนเป็นเครื่องมืออันแยบ ยลในการเล่าเรื่องของ ลับแล ที่สร้างภาวะแห่งการรับรู้ให้แก่ผู้ได้ยินได้ฟังจนแยกไม่ออก...ระหว่างความ บ้าที่ฉาบทาอยู่กับความน่าศรัทธา..ความบ้าคลั่ง...ที่เล่นหัวอยู่กับความ อ่อนโยน...มันคือเนื้อในของการสร้างสรรค์ที่ปรากฏอยู่อย่างน่าพินิจ พิเคราะห์ในนวนิยายเรื่องนี้ที่ อุทิศ ได้ผูกร้อยเป็นกลวิธีที่น่าติดตาม...การวางโครงเรื่องและสาระความหมายของ นวนิยายไว้ในด้านหนึ่ง ผนวกกับการตอกย้ำวิธีการเล่าเรื่องจากข้อคิดจากงานประพันธ์ด้วยสาระที่มี ความหมายอันยิ่งใหญ่ล้ำลึกของโลก ทำให้การเล่าเรื่องที่ซ้อนลงไปในกลวิธีแห่งการเล่าเรื่องภายใต้เงื่อนไขของ นวนิยายดูมีเอกภาพและเหลี่ยมมุมอันชวนติดตาม ขับเน้นและหนักแน่นขึ้นในทุกบทตอนแห่งความเป็นนวนิยายที่สื่อแสดงถึงความ คลุมเครือให้ปรากฏออกมาได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
ผมจะเริ่มเล่าเรื่องด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ย้อนเวลาไปอีกนาน ด้วยผมเห็นว่าหากผู้ใดไม่มีความอดทนพอที่จะระลึกถึงอดีตก่อนที่ตนจะอุบัติ ขึ้นมาเป็นมนุษย์ ซึ่งอย่างน้อยที่นก็ไม่สมควรที่จะเล่าเรื่องราวในชีวิตของตน คำกล่าวของ กุนเธอร์ กราส นักเขียนดังจากนวนิยายชื่อดังก้องโลก The Tin Drum คือตัวอย่างที่ถือเป็นปณิธานแห่งการเล่าเรื่องเป็นแบบแผนที่ อุทิศ ได้ใช้เป็นแนวทางแห่งการบุกเบิกโดยการเล่าเรื่องราวโดยรายละเอียดแห่ง นวนิยายของเขาได้อย่างมีพลังด้านอารมณ์ร่วม และสามารถแปลงสารแห่งเจตนารมณ์ที่ล้ำลึกให้ออกมาเป็นกระบวนการแห่งการปรุง แต่งทางวรรณกรรมที่ชัดเจน
อุทิศ ให้ข้อสรุปของ แก่งคอย ในเรื่องเล่าของ ลับแล เอาไว้ในฐานะของครอบครัวและในฐานะของความเป็นพี่ชายเอาไว้ในเชิงประจักษ์ แม้ในสถานะแห่งสัจจะ แก่งคอย จะมีตัวตนหรือไม่มีตัวตนอยู่ในโลกนี้หรือไม่ก็ตาม .... แก่งคอยคือจุดเริ่มต้นทั้งหมดแห่งความเสื่อมเสียหลุดลุ่ยที่ติดตามมา คือการลุกลามโหมไหม้ของเรื่องเสื่อมเสียประดามี หากมองว่าสิ่งที่เขาก่อเป็นอุบัติเหตุหนึ่งของการหายใจออกเพียงเฮือกเดียว แห่งอายุขัยอันยาวนานของประวัติศาสตร์เท่านั้น ผมถือเอากลวิธีทางการประพันธ์ตรงส่วนนี้เป็นเชิงชั้นทางการประพันธ์ที่สอด รับกับข้อเท็จจริงแห่งยุคสมัยได้อย่างประณีต มันคือความคาบเกี่ยวระหว่างจินตนาการกับบทบันทึกแห่งความทรงจำที่ล้ำลึกที่ เกี่ยวเนื่องกับจิตวิเคราะห์ ทั้งผีแม่เฒ่า ศาลพระภูมิ และต้นแหนถูกโค่นลงจนไม่เหลือแม้แต่รากให้ฟื้นฝอย เรื่องราวและตำนานต่างๆของมันรวมทั้งชีวิตของคนที่เหลือ...อำเภอแก่งคอย กำลังถูกกลบทับด้วยดินลูกรังสีแดงที่อัดแน่นทอดยาวแสนไกล และจะถูกปูลาดด้วยปูนซีเมนต์อีกชั้นหนึ่งซึ่งระเบิดมาจากภูเขาใกล้ๆ ภูเขาของพวกเรา ประวัติศาสตร์ของพวกเราจะยังคงถูกเขียนขึ้นใหม่อยู่เรื่อยๆ ... .
ประเด็นสำคัญส่วนนี้คือจุดจบอันเป็นเสมือนบทเริ่มต้นแห่งชีวิตของนวนิยาย เรื่องนี้ทั้งหมด...มันคือปฐมฐานที่นำพาจิตสำนึกอันหยั่งลึกของ อุทิศ เหมะมูล ให้ได้ออกเดินทางไปพร้อมกับจิตวิญญาณที่ปริร้าว แต่ก็มุ่งมั่นในการสะท้อนให้เห็นเบื้องลึกแห่ง ภาพวาดของความลับในใจ ให้บังเกิดออกมาสู่โลกแห่งความมาดหมาย โลกแห่งความหวังในการตื่นรู้ของผู้คนเพื่อให้เข้าใจถึงความคาบเกี่ยวอันซับ ซ้อนแห่งองค์รวมของความเป็นโลกโดยเฉพาะสถานการณ์ ที่ก่อตัวเป็นทั้งความมืดดำและสุกสว่างภายใน กับความหลับและความตื่นอันเป็นดั่งความหมายของความทุกข์และความสุขภายนอกที่ ถือเป็นข้อตระหนักขั้นสูงส่ง ในชั่วชีวิตคน มีการหลับแล้วตื่น หลับแล้วตื่นตลอดชั่วอายุขัย เป็นอุปมาแก่จริต ชีวิตที่ผ่านมาของผมมีอยู่จริงๆ... ชะตากรรมบรรจงกรีดริ้วรอยต่างๆด้วยมือของมันอย่างประณีตเฉพาะตัวให้แก่คนคน นั้น มันไม่มีวันลบเลือน ผมจะเอาส้นเท้าของความหลงลืมมาลบมันทิ้งไม่ได้ ใครหลายคนอาจพยายามลืมมันด้วยความจำเป็นอันเหลือทนต่างๆนาๆ แต่ผมจะไม่ ด้วยความเจ็บปวดและสูญเสียนี้มีอยู่จริง...หลวงพ่อบอกว่าผมเสพติดความสูญ เสีย พึงใจในรสชาติของมัน...ไม่เพียงเท่านั้นหรอก ผมมองหาที่ทางให้มัน และหากเป็นได้...ผมคือที่ทางของมัน ลับแล , แก่งคอย คือนิยายที่เริ่มจากปมเล็กๆแห่งความขัดแย้งภายในที่ผู้เขียนขยายความออกมา สู่ภายนอก...ออกมาสู่โลกกว้างแห่งภูมิปัญญา ความขัดแย้งเฉพาะตัวตนแห่งตน...รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างตัวตนกับจริตของคน ชิดใกล้ที่ถูกฉายภาพออกมาเป็นภาพขยายสู่มิติของ จิตวิญญาณแห่งความเป็นโลก [World Soul] ที่ต้องขบคิดและตีความอย่างถ่องแท้ ผ่านกระบวนการแห่งการรับรู้ต่างๆจนก่อเกิดเป็นนัยสำนึกที่หยั่งลึกขั้นสูง [Transcending Wisdom] ซึ่งผสมผสานกันทั้งแก่นความคิดแห่งประสบการณ์นิยมของโลกตะวันตก ผ่านบริบทแห่งนัยเชิงสังคม และศาสนธรรมทางโลกตะวันออก...อันถือเป็นการแตกตัวและปรับสร้างโครงสร้างแห่ง เจตจำนงใหม่ที่เป็นทั้งความกระจ่างแจ้งของความจริง [Ultimate Truth] และความลึกเร้นแห่งอัศจรรย์ของความเสมือนจริง [Magical Realism] .... จาก กุนเธอร์ กราส ในบทเริ่มต้น...ความคิดของเรื่องก็ถูกนำพาให้มาพบกับมิติและกลิ่นอายของความ มีอยู่และเป็นอยู่แห่งตัวตนของ มิราน กุนเดรา ...ข้ามผ่านมาถึงตรรกะแห่งชีวิตและโลกของ เกา ซิงเจี้ยน ใน ขุนเขาแห่งจิตวิญญาณ [Soul Mountain] อันเป็นเลือดเนื้อและจิตใจของคนตะวันออกโดยแท้
ผมได้สร้างกระบวนการที่เรียกว่า ตรรกะ หรือเหตุผลให้แก่ตัวเองในโลกอันอิสระและไร้ระเบียบนี้ กระบวนการ ตรรกะ และเหตุผลที่มีอยู่เป็นสิ่งที่คนเราสร้างขึ้นมาเพื่อระบุตัวตนของตัวเองให้ ชัดเจนยิ่งขึ้น... อุทิศ เหมะมูล นำเรื่องราวของเขาทั้งหมดใน ลับแล, แก่งคอย สู่ความเป็นนวนิยายที่เดินไปบนทางสายนี้ ...สายทางแห่งการค้นหาแก่นแท้แห่งจิตวิญญาณบนวงจรของโลกกว้างที่หมุนวน เหตุการณ์และเรื่องราวเป็นวงรอบของการสร้างความหมายที่จบลงดั่งวัฏฏะของความ เป็นพุทธะที่เต็มไปด้วยปริศนาคำถามอันสลับซับซ้อน .. ที่สุดแล้วทุกสิ่งก็คลี่คลายถึงกาลยุติ และจบลงด้วยความสงบงาม...จริตอันร้อนรนที่ก่อเกิดเป็นความขัดแย้งทั้งหลาย ทั้งปวง ก็จะคลายจางไป...กลายเป็นการค้นพบความสุขใหม่อันหมายถึง ความสงบ สะอาด ความปิติอันไม่ผูกใจกับสิ่งใด นอกจากการรู้แจ้งเท่านั้นดั่งวิธีรับมือกับชีวิตที่ว่า บ่มเพาะมัน เข้าใจมัน แล้วมันก็สุก แม้จะสังเกตเห็นและรู้สึกได้ว่าเด็กหนุ่มอายุเพียง 15 ปี จะแบกรับภาระแห่งความทรงจำและสภาวะอันซับซ้อนแห่งจิตที่เหมือนจะมากจนเกิน จริง. . .. แม้ว่าในเบื้องต้นของนวนิยายเรื่องนี้จะเอ่อท้นไปด้วยมิติของเนื้อหาและการ พร่ำพรรณนาถึงเงื่อนงำต่างๆในความซับซ้อนและเป็นไปอยู่ค่อนข้างมาก รวมทั้งการใช้สรรพนามแทนตัวบุคคลที่สามที่ฟังดูประดักประเดิดในบางคน แต่การกำหนดทิศทางด้วยกลไกของการจัดวางองค์ประกอบทางอารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนทัศนะคติของสาระเรื่องราวที่ดำเนินไปด้วยเจตนาแห่งความเป็น ดุลยภาพ ของการนำเสนอประเด็นอย่างจริงจัง ในนัยของรูปแบบและข้อมูลแห่งการสืบค้นด้านชีวิต...ก็ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ ดำเนินเรื่องไปอย่างน่าติดตาม...กลไกของการจัดวางองค์ประกอบทางด้านฉากแสดง ให้ปรากฏออกมาเป็นแต่ละบทตอนพร้อมการตอกย้ำด้วยทัศนะของนักเขียนผู้มีชื่อ ระดับโลก ...รวมทั้งการใช้ภาษาสื่อสารที่มีลักษณะของการสื่อสารดั่งอารมณ์ด้านการแสดง [Dramatic]...การตัดต่อใจความของภาพที่นำเสนอเรื่องราวด้วยเทคนิควิธีที่ ซ้อนซับและแม่นตรงแบบลีลาของหนังสมัยใหม่...ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ จัดว่ามีน้ำหนักในเชิงวรรณกรรมที่ถือเป็นรูปลักษณ์ใหม่อันน่าค้นหาทั้ง ความงามและความหมาย ของการแสดงออกทั้งด้านแง่งามของศิลปะ นับแต่สัญญะสีสันของภาพปก ความสอดคล้องและกลมกลืนของรูปเล่ม ตลอดจนแง่จริงของการบ่มเพาะความหมายด้านในแห่งการตระหนักรู้อันแท้จริงของ ชีวิต ที่สามารถบังเกิดเป็นการพัฒนาทางจิตวิญญาณ [Spiritual Development] ขึ้นมาได้อย่างครอบคลุมและงดงาม ลับแล, แก่งคอย คือความหน้ายินดีสิ่งหนึ่งแห่งวงวรรณกรรมของไทย ณ ขณะนี้ ซึ่งผู้ที่รักงานวรรณกรรม รักงานศิลปะ...และรักในความหมายที่ลึกซึ้งของชีวิต ไม่ควรจะมองข้ามผ่านสายตาแห่งจิตวิญญาณของตนตน