วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554



ความสุขของกะทิ

เด็กหญิงกะทิอายุ ๙ ปีอาศัยอยู่บ้านทรงไทยริมคลองที่อยุธยากับตาและยาย ทุกวันเธอตื่นแต่เช้า คดข้าวใส่ขันและไปใส่บาตรกับตาที่ท่าน้ำหน้าบ้าน หลวงลุงนั่งเรือมารับบาตรและมีเด็กวัดที่เป็นหลานชื่อ ทอง พายเรือมาให้ กะทิซ้อนท้ายจักรยานตาไปขึ้นรถสองแถวที่หน้าปากซอยเพื่อไปโรงเรียน เธอมีปิ่นโตใส่อาหารกลางวันที่ยายเตรียมให้ไปโรงเรียนด้วย
กะทิมีความสุขดีในบ้านหลังน้อยที่ล้อมรอบด้วยไม้ไทย ในวันว่างตาชวนกะทิพายเรือไปเที่ยวเล่นในทุ่งและไปจนถึงศาลาริมน้ำใต้ต้นก้ามปู ตาเคยเป็นทนายมีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ เมื่อเกษียณแล้วจึงย้ายกลับมาบ้านเกิด บูรณะบ้านไทยและใช้ชีวิตบั้นปลายช่วยเหลือผู้คนในท้องถิ่น ยายเคยทำงานเป็นเลขานุการนายใหญ่โรงแรมห้าดาวและเลือกที่จะใช้ชีวิตเรียบง่ายเช่นกัน กะทิมีพี่ทองเป็นเพื่อนเล่น ชีวิตดำเนินไปอย่างเรียบง่ายแม้ว่าไม่สมบูรณ์ครบถ้วนอย่างที่ควรจะเป็น
กะทิจำแม่ได้เพียงลาง ๆ ตายายไม่พูดถึงแม่ ในบ้านไม่มีรูปถ่ายแม่ กะทิคิดถึงแม่ทุกวัน อยากพบหน้า อยากให้แม่มารับที่โรงเรียน กะทิอธิษฐานทุกวันให้ฝันเป็นจริง แล้ววันหนึ่งยายก็ถามกะทิว่า
กะทิ อยากไปหาแม่ไหมลูก
เพียงเท่านี้การเดินทางของกะทิก็เริ่มขึ้น ตายายบอกกะทิว่าแม่ป่วยและพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านชายทะเล ชฏาหรือน้าฏา เลขาฯ ของแม่ ขับรถมารับ อาการของแม่หนักแล้วและตั้งใจให้กะทิมาใช้เวลาช่วงสุดท้ายด้วยกัน โรคของแม่คือเอแอลเอส กล้ามเนื้อจะอ่อนแรงลงเรื่อย ๆ จนช่วยตัวเองไม่ได้และถึงขั้นหายใจเองไม่ได้ แม่ไม่ยอมใช้เครื่องช่วยหายใจเพราะจะทำให้พูดไม่ได้ แม่เลือกที่จะทอนเวลาชีวิตลงแต่อยู่อย่างมีคุณภาพ
กะทิได้รู้ว่าแม่ตัดสินใจฝากกะทิไว้กับตายายเมื่อรู้ว่าไม่สามารถดูแลกะทิได้เอง เหตุการณ์ที่ทำให้แม่ตัดสินใจคือเมื่อกะทิอายุ ๒ ขวบ แม่พากะทิไปพายเรือเล่นจนถึงศาลาริมน้ำ แต่เกิดพายุและกลับบ้านไม่ทัน กะทินั่งอยู่ในเรือและเรือหลุดจากเสาที่ผูกไว้โดยที่แม่ช่วยอะไรไม่ได้เลย วันนั้นโชคดีที่ทองเด็กวัดตามมาหาเพื่อนเล่นจึงช่วยกะทิกับแม่ไว้ได้ กะทิอยู่กับตายายนับจากวันนั้นและเมื่อรู้เหตุผลจากปากของแม่ก็เข้าใจ
แม่จากไปอย่างสงบและฝากให้เพื่อนของแม่ชื่อ กันต์ และลูกพี่ลูกน้องชื่อ ตอง เป็นคนพากะทิกลับไปที่คอนโดกลางกรุงเพื่อพบกับส่วนหนึ่งของชีวิตแม่
กะทิจึงเดินทางอีกครั้งและมาถึงคอนโดที่กะทิเคยอยู่กับแม่ก่อนจะพลัดพรากกัน ที่นี่มีห้องหนึ่งที่แม่จัดเก็บเอกสารเรื่องราวชีวิตของตัวเองไว้ ลุงตองเป็นคนพากะทิไปเปิดตู้เอกสารและทำให้กะทิพบว่าพ่อของกะทิชื่อ แอนโทนี ซัมเมอร์ ชาวพม่าที่ไปเติบโตที่อังกฤษ
แม่พบพ่อเมื่อไปเรียนต่อและทำงานที่นั่น ทั้งสองรักและแต่งงานกัน แต่แม่ได้งานใหญ่ที่ฮ่องกงทำให้ต้องแยกกันอยู่ ไม่นานแม่ก็รู้ว่าคนรักเก่าของพ่อตามมาพบกันและแม่ตัดสินใจให้คนทั้งสองสมหวัง แม่เลือกเดินทางกลับมาอยู่กรุงเทพฯ และพบว่าตัวเองตั้งท้อง
แม่เตรียมจดหมายไว้ให้กะทิส่งถึงพ่อและสั่งไว้ว่าให้กะทิตัดสินใจเองว่าจะส่งหรือไม่ บทสุดท้ายของหนังสือทำให้รู้ว่ากะทิเลือกและพอใจที่จะใช้ชีวิตเรียบง่ายกับตายายที่บ้านริมคลองสืบไป

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ลับแลที่แก่งคอย

ในความทรงจำของชีวิต เราต่างมีบาดแผลทางจิตวิญญาณเกาะติดกันอยู่อย่างติดตรึงและลึกเร้น บางขณะมันมักจะลงโทษเราจนป่วยไข้...และหลายๆขณะมันมักจะผลักดันให้เราต้องตก อยู่ในอาการหม่นมืดคลุมเครือหลับๆตื่นๆ เป็นจริตแห่งมายาคติที่ตามติด...คอยหลอกหลอนหัวใจอันบริสุทธิ์ของเราให้ต้อง ตกอยู่กับความน่าสะพรึงกลัวในสิ่งที่บ่มเพาะวิถีแห่งตัวตนอันแตกซ่าน และไร้เกาะป้องกันในการควบคุมบริบทแห่งการมีชีวิตอยู่ให้ดำรงอยู่ได้อย่าง ถาวรและสงบนิ่ง ซึ่งยิ่งยาวนานสิ่งอันเป็นปรากฏการณ์แห่งความเหลื่อมซ้อนในท่าทีเบื้องต้นก็ จะค่อยๆกลับกลายเป็นความลับแห่งจิต และค่อยๆสะสมจนกลายสภาพเป็นความเหินห่างแห่งการรอคอยที่ไกลออกไปจากความดี งามของชีวิต...มากยิ่งขึ้นทุกที..
สาระแห่งเรื่องราวเบื้องต้นคือปฐมบทแห่งสำนึกคิดของการหยั่งรู้อันเป็น ผลลัพธ์แห่งผัสสะในการเล่าเรื่อง..ผ่านนวนิยายที่ทั้งปลอกเปลือกและเฉือน คว้านเข้าไปในเนื้อในของวิถีแห่งจิตวิญญาณที่สับสนและสั่นสะท้านอันเนื่องมา แต่ความจริงอันบาดลึกจากประสบการณ์ที่ถูกกระทำย่ำยีซึ่งสั่งสมอยู่ในจุดแตก ดับแห่งมุมมืดภายใต้หัวใจและตัวตนของความลวงหลอก
ลับแล , แก่งคอย โดย อุทิศ เหมะมูล นักเขียนหนุ่มผู้สร้างสรรค์เนื้องานด้วยลีลาอันแยบยลแห่งจิตรศิลป์และจินตศิลป์สื่อสะท้อนถึงอุบัติการณ์แห่งการถูกจองจำอย่างโหดร้ายภายใต้การบีบกด จากสัญชาตญาณที่ถูกทุบทำลายอย่างไร้หวัง...ด้วยภาพแสดงที่พลิกกลับไปมาทาง กลไกของการรับรู้และเข้าใจ
ชื่อของ ลับแล กับ แก่งคอย เป็นดั่งกุญแจสำคัญที่ไขเข้าไปสู่...ก้นบึ้ง..ผ่านประตูแห่งความลี้ลับใน ชีวิต เข้าไปสู่เนื้อแท้แห่งการจำยอมของสติและปัญญาญาณ ที่มนุษย์ไม่อาจขยับเขยื้อนศักยภาพแห่งตนให้เคลื่อนไหวไปในทางใดได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าอำนาจแห่งอัตตาและความคลี่คลายแห่งอนัตตาต่างขบกัดและเป็น ศัตรูระหว่างกันอย่างยากที่จะเยียวยาและแยกแยะออกมาจากความผิดชอบชั่วดี รวมทั้งไม่อาจจะให้นิยามความหมายใดใดต่อคุณค่าของสัญญะอันเป็นจริงที่ชีวิต ควรจะเป็นเจ้าของและผู้ถือครองอันแท้จริงได้...ชื่อ ลับแล เป็นชื่ออำเภอที่มีตำนานเล่าขานอันลึกลับมาช้านานของจังหวัดอุตรดิตถ์ ส่วน แก่งคอย เป็นชื่ออำเภอดั้งเดิมของจังหวัดสระบุรี...เป็นชุมทางการคมนาคมด้านรถไฟของ จังหวัดที่เต็มไปด้วยการเล่นแร่แปรธาตุ...แปลงธรรมชาติโดยการระเบิดภูเขาให้ ย่อยสลายกลายเป็นฝุ่นผง...ที่ต่อมาก็กลายเป็นส่วนผสมที่จับตัวกันจนกลายร่าง แปรรูปไปเป็นวัตถุรูปร่างต่างๆตั้งแต่เศษชิ้นแห่งอุปกรณ์เล็กๆ ไปจนถึงตึกรามอาคารสูงเทียบเท่าภูเขาเลากาอันเป็นที่มาแห่งต้นรากของมันอีก ครั้ง...นี่คือความอัศจรรย์ที่วกเวียนไปมาระหว่างชีวิตกับธรรมชาติที่ไม่เคย แยกออกจากกันได้...ชื่อของอำเภอทั้งสองกลายมาเป็นชื่อของลูกชายของชายคน หนึ่งที่ไม่ยอมฟังเสียงคัดค้านจากใครๆในการตั้งชื่อลูก ด้วยชื่อที่ประหลาดล้ำของสองอำเภอนี้ เมื่อกลายมาเป็นชื่อคน...มันฟังดูเหมือนดั่งจะก่อเกิดให้เป็นกาลกินี ไม่เป็นศิริมงคล แต่ลึกลงไปมันคือนัย แห่งการทดแทนความทรงจำในริ้วรอยแห่งชีวิตของคนคนหนึ่ง ซึ่งต้องเคี่ยวกรำโอกาสแห่งชะตากรรมของตนเองและครอบครัวผ่านความทุกข์ยาก เดียวดายโดยลำพัง ประเด็นแห่งชะตากรรมตรงส่วนนี้คือที่มาที่ไปแห่งโมหะจริตและโทสะจริตที่ก่อ เกิดขึ้นเป็นอาวุธร้าย ที่ย้อนกลับมาโหมกระหน่ำเฆี่ยนตีทั้งตัวเขา ภรรยาและลูกๆ...ลงโทษครอบครัวของเขาด้วยท่าทีที่เกรี้ยวกราด จนบิดรูปบิดร่างให้ความเชื่อมั่นศรัทธาในชีวิตต้องสูญสลายไปจากสภาวะปกติของ วิถีแห่งชีวิตมนุษย์
อุทิศ หยิบเอามิติแห่งสภาวะต่างๆในอุบัติการณ์ของชีวิตดังกล่าวมาตีความและขยาย ความออกมาเป็นทั้งรูปรอยของความคิดและภาพแสดงเชิงประจักษ์ในด้านรูปธรรมที่ มีส่วนพลิกผลันให้ชีวิตของตัวละครสำคัญในเรื่องต้องตกอยู่ในวงจรของการ เคลื่อนไหวในเชิงอคติ และเต็มไปด้วยมายาลวงของความเป็นไปที่ขาดรากแก้วแห่งเหตุและผลของการมีชีวิต อยู่ นั่นอาจเพราะว่าชีวิตของมนุษย์มักเต็มไปด้วยข้อขัดแย้งและการโต้แย้งที่มัก จะพัดพาทุกสิ่งทุกอย่างบนพื้นฐานของความดีงามให้หลุดพ้นจากจุดประสงค์ดั้ง เดิมของมันออกมาไกลแสนไกล...เช่นเดียวกับเรื่องราวของชายคนหนึ่งผู้ซึ่งเคย มีความรัก...มีคนรัก มีครอบครัว มีลูกชาย มีหน้าที่การงาน มีเพื่อน...มีทรัพย์สิน แต่ที่สุดแล้วก็ต้องจากโลกนี้ไปด้วยวิสัยและอาการที่แปลกประหลาดด้วยโรคภัย ที่เหมือนตกอยู่ในเงื้อมเงาของความเปลี่ยนแปลงที่เต็มไปด้วยปริศนา
กาลครั้งหนึ่ง ชายคนหนึ่งเคยมีชีวิตอยู่ที่นี่ เขามีลูกเมียพร้อมหน้า คนนับหน้าถือตาพรั่งพร้อม วันหนึ่งเขาค่อยๆสูญเสียความน่านับถือจากคนใกล้ชิด พอเขาตายจาก คนรอบข้างก็สิ้นความเห็นอกเห็นใจครอบครัวของเขา ภาวะแห่งความมีความเป็นตรงส่วนนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งแห่งการเล่าขานซึ่ง ลับแล ในฐานะลูกคนเล็กในวัยเริ่มหนุ่ม...วัยสิบห้าปี กับภาพแห่งความทรงจำของอดีต...กับเสียงอันอึงอลด้วยเหตุการณ์ชวนหวั่นไหวของ ประสบการณ์ชีวิต ทำให้เขากลายเป็นผู้เล่าเรื่องที่เหมือนถูกมัดโยงอยู่กับชีวิต คล้ายดั่งเงาที่ผูกติดกับร่างของเขาไปในทุกหนแห่ง...เหมือนว่าเงานั้นซื่อ สัตย์ แต่แท้จริงมันคือสิ่งที่ทรยศ...มันไม่เคยอยู่กับเรานานๆ....ในทุกเวลานาที มันมักจะกลายร่างของมันให้ทอดยาวไกลออกไปบนแผ่นพื้นที่ก้าวย่าง แต่อีกหลายๆขณะมันก็จะกลับหดตัว หายหัวไปอยู่ร่วมกับซากร่างของความเป็นตัวตนที่เลือนลับไปกับจิตวิญญาณที่ แหลกสลาย...ประเด็นตรงนี้ แท้จริงคือความสำคัญทางอุดมคติที่ อุทิศ พยายามจะชี้ให้เห็นว่า...มนุษย์เราทุกคนมีอุดมคติที่เป็นเสมือนเงาของความ เป็นจริง อุดมคติก็แค่เงาที่ไม่สะทกสะท้าน ปิดซ่อนและบิดพลิ้ว และสามานย์ในบางครั้ง เป็นรยางค์หนึ่งที่ความเป็นจริงไหนๆก็มีตามธรรมดาสามัญ เป็นเพียงเงามันเดินตามหลังความเป็นจริงต้อยๆ มีบางจังหวะเท่านั้น...ที่ความเป็นจริงอุ้มแบกความจำเป็นไว้ในอ้อมอก อุดมคติก็แสร้งทำว่ามันแขนด้วน เป็นไปไม่ได้ที่มันจะแบกอะไรได้ ความสง่างามของอุดมคติคือการแสดงให้เห็นว่าในบางจังหวะมันไม่ได้ปกปิดมิด เม้มอะไร
เรื่องราวของ ลับแล,แก่งคอย ถูกนำเสนอด้วยการเล่าผ่านสำนึกคิดที่ดูเหมือนจะสมบูรณ์ดั่งท่าทีของอุดมคติ ที่ยังไม่ได้ปลอกเปลือก...แต่ครั้นเมื่อเปลื้องแก่นแท้แห่งอารมณ์ความรู้สึก ออกจากนัยแห่งชีวิตที่แท้แล้ว...มันกลับเป็นได้ดั่งความจริงที่พิกลพิการ ...ความจริงที่เป็นดั่งแขนอันคดงอของ ลับแล เด็กหนุ่มผู้เล่าเรื่องนี้ที่เครื่องชี้ทางแห่งชีวิตของเขาอันเป็นสัญญะที่ เรียบง่ายที่สุดถูกกระทำให้คดงอและไม่สามารถที่จะวางใจในความเป็นแก่นแท้ของ มันได้...
อุทิศ สื่อสารเรื่องราวแห่งนวนิยายทั้งหมดของเขาผ่านเรื่องเล่าอันยาวไกลของลับแล ...จากตำนานอันวกวนเหลือเชื่อของเหล่าบุพการี...ข้ามผ่านอัศจรรย์ของ เหตุการณ์ที่เป็นเหมือนหมอกควันของความเร้นลับ...ลึกลงไปสู่ความฝันอันน่า ตื่นตระหนกที่ถูกเคี่ยวกรำและกระหน่ำตีจากความทุกข์ยากอันเนื่องมาจากใจที่ ถูกบ่อนแซะและรุกทำลาย จนแม้กระทั่งความบ้าคลั่งแห่งจิตวิญญาณที่สื่อแสดงออกมาเป็นดั่งมายาของความ ลวงหลอก ทั้งความจริงแท้...ความจริงลวง รวมทั้งความหลอกลวงในเจตนาแห่งความจริง...ทั้งหมดล้วนเป็นเครื่องมืออันแยบ ยลในการเล่าเรื่องของ ลับแล ที่สร้างภาวะแห่งการรับรู้ให้แก่ผู้ได้ยินได้ฟังจนแยกไม่ออก...ระหว่างความ บ้าที่ฉาบทาอยู่กับความน่าศรัทธา..ความบ้าคลั่ง...ที่เล่นหัวอยู่กับความ อ่อนโยน...มันคือเนื้อในของการสร้างสรรค์ที่ปรากฏอยู่อย่างน่าพินิจ พิเคราะห์ในนวนิยายเรื่องนี้ที่ อุทิศ ได้ผูกร้อยเป็นกลวิธีที่น่าติดตาม...การวางโครงเรื่องและสาระความหมายของ นวนิยายไว้ในด้านหนึ่ง ผนวกกับการตอกย้ำวิธีการเล่าเรื่องจากข้อคิดจากงานประพันธ์ด้วยสาระที่มี ความหมายอันยิ่งใหญ่ล้ำลึกของโลก ทำให้การเล่าเรื่องที่ซ้อนลงไปในกลวิธีแห่งการเล่าเรื่องภายใต้เงื่อนไขของ นวนิยายดูมีเอกภาพและเหลี่ยมมุมอันชวนติดตาม ขับเน้นและหนักแน่นขึ้นในทุกบทตอนแห่งความเป็นนวนิยายที่สื่อแสดงถึงความ คลุมเครือให้ปรากฏออกมาได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
ผมจะเริ่มเล่าเรื่องด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ย้อนเวลาไปอีกนาน ด้วยผมเห็นว่าหากผู้ใดไม่มีความอดทนพอที่จะระลึกถึงอดีตก่อนที่ตนจะอุบัติ ขึ้นมาเป็นมนุษย์ ซึ่งอย่างน้อยที่นก็ไม่สมควรที่จะเล่าเรื่องราวในชีวิตของตน คำกล่าวของ กุนเธอร์ กราส นักเขียนดังจากนวนิยายชื่อดังก้องโลก The Tin Drum คือตัวอย่างที่ถือเป็นปณิธานแห่งการเล่าเรื่องเป็นแบบแผนที่ อุทิศ ได้ใช้เป็นแนวทางแห่งการบุกเบิกโดยการเล่าเรื่องราวโดยรายละเอียดแห่ง นวนิยายของเขาได้อย่างมีพลังด้านอารมณ์ร่วม และสามารถแปลงสารแห่งเจตนารมณ์ที่ล้ำลึกให้ออกมาเป็นกระบวนการแห่งการปรุง แต่งทางวรรณกรรมที่ชัดเจน
อุทิศ ให้ข้อสรุปของ แก่งคอย ในเรื่องเล่าของ ลับแล เอาไว้ในฐานะของครอบครัวและในฐานะของความเป็นพี่ชายเอาไว้ในเชิงประจักษ์ แม้ในสถานะแห่งสัจจะ แก่งคอย จะมีตัวตนหรือไม่มีตัวตนอยู่ในโลกนี้หรือไม่ก็ตาม .... แก่งคอยคือจุดเริ่มต้นทั้งหมดแห่งความเสื่อมเสียหลุดลุ่ยที่ติดตามมา คือการลุกลามโหมไหม้ของเรื่องเสื่อมเสียประดามี หากมองว่าสิ่งที่เขาก่อเป็นอุบัติเหตุหนึ่งของการหายใจออกเพียงเฮือกเดียว แห่งอายุขัยอันยาวนานของประวัติศาสตร์เท่านั้น ผมถือเอากลวิธีทางการประพันธ์ตรงส่วนนี้เป็นเชิงชั้นทางการประพันธ์ที่สอด รับกับข้อเท็จจริงแห่งยุคสมัยได้อย่างประณีต มันคือความคาบเกี่ยวระหว่างจินตนาการกับบทบันทึกแห่งความทรงจำที่ล้ำลึกที่ เกี่ยวเนื่องกับจิตวิเคราะห์ ทั้งผีแม่เฒ่า ศาลพระภูมิ และต้นแหนถูกโค่นลงจนไม่เหลือแม้แต่รากให้ฟื้นฝอย เรื่องราวและตำนานต่างๆของมันรวมทั้งชีวิตของคนที่เหลือ...อำเภอแก่งคอย กำลังถูกกลบทับด้วยดินลูกรังสีแดงที่อัดแน่นทอดยาวแสนไกล และจะถูกปูลาดด้วยปูนซีเมนต์อีกชั้นหนึ่งซึ่งระเบิดมาจากภูเขาใกล้ๆ ภูเขาของพวกเรา ประวัติศาสตร์ของพวกเราจะยังคงถูกเขียนขึ้นใหม่อยู่เรื่อยๆ ... .
ประเด็นสำคัญส่วนนี้คือจุดจบอันเป็นเสมือนบทเริ่มต้นแห่งชีวิตของนวนิยาย เรื่องนี้ทั้งหมด...มันคือปฐมฐานที่นำพาจิตสำนึกอันหยั่งลึกของ อุทิศ เหมะมูล ให้ได้ออกเดินทางไปพร้อมกับจิตวิญญาณที่ปริร้าว แต่ก็มุ่งมั่นในการสะท้อนให้เห็นเบื้องลึกแห่ง ภาพวาดของความลับในใจ ให้บังเกิดออกมาสู่โลกแห่งความมาดหมาย โลกแห่งความหวังในการตื่นรู้ของผู้คนเพื่อให้เข้าใจถึงความคาบเกี่ยวอันซับ ซ้อนแห่งองค์รวมของความเป็นโลกโดยเฉพาะสถานการณ์ ที่ก่อตัวเป็นทั้งความมืดดำและสุกสว่างภายใน กับความหลับและความตื่นอันเป็นดั่งความหมายของความทุกข์และความสุขภายนอกที่ ถือเป็นข้อตระหนักขั้นสูงส่ง ในชั่วชีวิตคน มีการหลับแล้วตื่น หลับแล้วตื่นตลอดชั่วอายุขัย เป็นอุปมาแก่จริต ชีวิตที่ผ่านมาของผมมีอยู่จริงๆ... ชะตากรรมบรรจงกรีดริ้วรอยต่างๆด้วยมือของมันอย่างประณีตเฉพาะตัวให้แก่คนคน นั้น มันไม่มีวันลบเลือน ผมจะเอาส้นเท้าของความหลงลืมมาลบมันทิ้งไม่ได้ ใครหลายคนอาจพยายามลืมมันด้วยความจำเป็นอันเหลือทนต่างๆนาๆ แต่ผมจะไม่ ด้วยความเจ็บปวดและสูญเสียนี้มีอยู่จริง...หลวงพ่อบอกว่าผมเสพติดความสูญ เสีย พึงใจในรสชาติของมัน...ไม่เพียงเท่านั้นหรอก ผมมองหาที่ทางให้มัน และหากเป็นได้...ผมคือที่ทางของมัน ลับแล , แก่งคอย คือนิยายที่เริ่มจากปมเล็กๆแห่งความขัดแย้งภายในที่ผู้เขียนขยายความออกมา สู่ภายนอก...ออกมาสู่โลกกว้างแห่งภูมิปัญญา ความขัดแย้งเฉพาะตัวตนแห่งตน...รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างตัวตนกับจริตของคน ชิดใกล้ที่ถูกฉายภาพออกมาเป็นภาพขยายสู่มิติของ จิตวิญญาณแห่งความเป็นโลก [World Soul] ที่ต้องขบคิดและตีความอย่างถ่องแท้ ผ่านกระบวนการแห่งการรับรู้ต่างๆจนก่อเกิดเป็นนัยสำนึกที่หยั่งลึกขั้นสูง [Transcending Wisdom] ซึ่งผสมผสานกันทั้งแก่นความคิดแห่งประสบการณ์นิยมของโลกตะวันตก ผ่านบริบทแห่งนัยเชิงสังคม และศาสนธรรมทางโลกตะวันออก...อันถือเป็นการแตกตัวและปรับสร้างโครงสร้างแห่ง เจตจำนงใหม่ที่เป็นทั้งความกระจ่างแจ้งของความจริง [Ultimate Truth] และความลึกเร้นแห่งอัศจรรย์ของความเสมือนจริง [Magical Realism] .... จาก กุนเธอร์ กราส ในบทเริ่มต้น...ความคิดของเรื่องก็ถูกนำพาให้มาพบกับมิติและกลิ่นอายของความ มีอยู่และเป็นอยู่แห่งตัวตนของ มิราน กุนเดรา ...ข้ามผ่านมาถึงตรรกะแห่งชีวิตและโลกของ เกา ซิงเจี้ยน ใน ขุนเขาแห่งจิตวิญญาณ [Soul Mountain] อันเป็นเลือดเนื้อและจิตใจของคนตะวันออกโดยแท้
ผมได้สร้างกระบวนการที่เรียกว่า ตรรกะ หรือเหตุผลให้แก่ตัวเองในโลกอันอิสระและไร้ระเบียบนี้ กระบวนการ ตรรกะ และเหตุผลที่มีอยู่เป็นสิ่งที่คนเราสร้างขึ้นมาเพื่อระบุตัวตนของตัวเองให้ ชัดเจนยิ่งขึ้น... อุทิศ เหมะมูล นำเรื่องราวของเขาทั้งหมดใน ลับแล, แก่งคอย สู่ความเป็นนวนิยายที่เดินไปบนทางสายนี้ ...สายทางแห่งการค้นหาแก่นแท้แห่งจิตวิญญาณบนวงจรของโลกกว้างที่หมุนวน เหตุการณ์และเรื่องราวเป็นวงรอบของการสร้างความหมายที่จบลงดั่งวัฏฏะของความ เป็นพุทธะที่เต็มไปด้วยปริศนาคำถามอันสลับซับซ้อน .. ที่สุดแล้วทุกสิ่งก็คลี่คลายถึงกาลยุติ และจบลงด้วยความสงบงาม...จริตอันร้อนรนที่ก่อเกิดเป็นความขัดแย้งทั้งหลาย ทั้งปวง ก็จะคลายจางไป...กลายเป็นการค้นพบความสุขใหม่อันหมายถึง ความสงบ สะอาด ความปิติอันไม่ผูกใจกับสิ่งใด นอกจากการรู้แจ้งเท่านั้นดั่งวิธีรับมือกับชีวิตที่ว่า บ่มเพาะมัน เข้าใจมัน แล้วมันก็สุก แม้จะสังเกตเห็นและรู้สึกได้ว่าเด็กหนุ่มอายุเพียง 15 ปี จะแบกรับภาระแห่งความทรงจำและสภาวะอันซับซ้อนแห่งจิตที่เหมือนจะมากจนเกิน จริง. . .. แม้ว่าในเบื้องต้นของนวนิยายเรื่องนี้จะเอ่อท้นไปด้วยมิติของเนื้อหาและการ พร่ำพรรณนาถึงเงื่อนงำต่างๆในความซับซ้อนและเป็นไปอยู่ค่อนข้างมาก รวมทั้งการใช้สรรพนามแทนตัวบุคคลที่สามที่ฟังดูประดักประเดิดในบางคน แต่การกำหนดทิศทางด้วยกลไกของการจัดวางองค์ประกอบทางอารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนทัศนะคติของสาระเรื่องราวที่ดำเนินไปด้วยเจตนาแห่งความเป็น ดุลยภาพ ของการนำเสนอประเด็นอย่างจริงจัง ในนัยของรูปแบบและข้อมูลแห่งการสืบค้นด้านชีวิต...ก็ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ ดำเนินเรื่องไปอย่างน่าติดตาม...กลไกของการจัดวางองค์ประกอบทางด้านฉากแสดง ให้ปรากฏออกมาเป็นแต่ละบทตอนพร้อมการตอกย้ำด้วยทัศนะของนักเขียนผู้มีชื่อ ระดับโลก ...รวมทั้งการใช้ภาษาสื่อสารที่มีลักษณะของการสื่อสารดั่งอารมณ์ด้านการแสดง [Dramatic]...การตัดต่อใจความของภาพที่นำเสนอเรื่องราวด้วยเทคนิควิธีที่ ซ้อนซับและแม่นตรงแบบลีลาของหนังสมัยใหม่...ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ จัดว่ามีน้ำหนักในเชิงวรรณกรรมที่ถือเป็นรูปลักษณ์ใหม่อันน่าค้นหาทั้ง ความงามและความหมาย ของการแสดงออกทั้งด้านแง่งามของศิลปะ นับแต่สัญญะสีสันของภาพปก ความสอดคล้องและกลมกลืนของรูปเล่ม ตลอดจนแง่จริงของการบ่มเพาะความหมายด้านในแห่งการตระหนักรู้อันแท้จริงของ ชีวิต ที่สามารถบังเกิดเป็นการพัฒนาทางจิตวิญญาณ [Spiritual Development] ขึ้นมาได้อย่างครอบคลุมและงดงาม ลับแล, แก่งคอย คือความหน้ายินดีสิ่งหนึ่งแห่งวงวรรณกรรมของไทย ณ ขณะนี้ ซึ่งผู้ที่รักงานวรรณกรรม รักงานศิลปะ...และรักในความหมายที่ลึกซึ้งของชีวิต ไม่ควรจะมองข้ามผ่านสายตาแห่งจิตวิญญาณของตนตน